ก้าวผ่าน COVID-19 “เทคโนโลยี” ไม่ใช่เรื่องใหม่ ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น
COVID-19 กระทบต่อชีวิตของผู้คนทั่วโลก หลายประเทศพยายามลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยขอความร่วมมือเว้นระยะห่างทางสังคม แต่การที่หลายคนต้องกักตัวอยู่บ้าน กลับเป็นแรงบีบให้พฤติกรรมหลายอย่างจำเป็นต้องเปลี่ยนไป
"เทคโนโลยี" กลายเป็นสิ่งที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตช่วงนี้สะดวกขึ้น พนักงานบริษัทสามารถทำงานได้จากที่บ้าน เช่นเดียวกับการเรียน ช้อปปิ้ง รับชมคอนเสิร์ต หรือแม้การประกอบพิธีทางศาสนา ที่ต้องปรับเป็นรูปแบบออนไลน์
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็เพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้อย่างปกติที่สุด เชื่อว่าเมื่อปรับตัวหลังจากผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปแล้ว ทุกอย่างจะเป็นเรื่องปกติ สอดคล้องกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ หรือ New Normal
อ่านข่าว : "เวียนเทียนออนไลน์" วิถีใหม่ ทุกศาสนาฝ่าวิกฤตยุค COVID ระบาด
: นอนบนเตียง-โบกแท่งไฟ ดู "คอนเสิร์ต" ที่บ้าน สไตล์ New Normal
: New Normal เมื่อต้องกลับมาใช้ชีวิต หลัง COVID-19 กำลังจะไป
วิกฤตในหลายครั้งมักจะมีการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เสมอ วิกฤตโรค COVID-19 ก็เช่นกัน ภาคส่วนต่างๆ นำนวัตกรรม และเทคโนโลยี เข้ามาเป็นกำลังเสริม ทั้งเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค อำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตได้อีก
ด้านการแพทย์ นอกจากจะต้องเร่งคิดค้นและพัฒนาวัคซีน เพื่อมาจัดการกับไวรัส COVID-19 แล้ว การพัฒนาเทคโลยีต่างๆ เพื่อช่วยให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน
ขณะที่บุคลากรด้านการแพทย์ ซึ่งถือเป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับการระบาดในครั้งนี้ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อรักษาช่วยชีวิตผู้ป่วยทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เทคโนโลยีจึงทำให้การทำงานปลอดภัยกว่าเดิม
ในช่วงเริ่มการระบาดที่เมืองอู่ฮั่น จีนนำ "หุ่นยนต์" เข้ามาทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับมือกับผู้ป่วยจำนวนมาก ทั้งหุ่นยนต์ส่งอาหารและยา ช่วยลดการทำงานและลดอัตราการติดเชื้อแก่บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงลดการใช้ชุดป้องกัน
เทคโนโลยียังช่วยให้การตรวจวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วขึ้น โดยจีนยังใช้ CT Scan ในการตรวจหาผู้ติดเชื้อ COVID-19
ไต้หวันได้พัฒนาเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง Virtual Reality สอนนักเรียนแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ฝึกขั้นตอนรักษา โดยไม่จำเป็นต้องทดลองรักษากับคนไข้จริง ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับแพทย์และคนไข้
ในแวดวงกระบวนการยุติธรรม ก็ต้องปรับตัวลดการรวมกลุ่ม ศูนย์ข้อมูลเพื่อ ธุรกิจไทยในจีน ยกตัวอย่างศาลของเซี่ยงไฮ้ใช้เทคโนโลยีออนไลน์ช่วยในการว่าความโดยให้มีการตัดสินคดีและรับฟังคำพิพากษาแบบ RealTime รวมถึงสามารถยื่นคำร้องเพื่อพิจารณาคดีออนไลน์ เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์ในช่วงการแพร่ระบาด
นอกจากนี้ ที่หมู่บ้านในมณฑลเหอหนานตอนกลางของจีน ยังมีการใช้โดรนฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
วิกฤต COVID-19 สร้างความตื่นตัวของอุตสาหกรรมสุขภาพในจีน โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า หุ่นยนต์กลายมาเป็นผู้ช่วยทางการแพทย์ที่สำคัญในโรงพยาบาลของจีน เพราะอำนวยความสะดวกและลดความเสี่ยงติดเชื้อจากการสัมผัส หลายบริษัทได้เริ่มทดสอบหุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติภายใน และโดรนส่งของตั้งแต่ปีที่แล้ว
ขณะที่นักวิเคราะห์ มองว่า การแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้จะช่วยผลักดันวงการแพทย์ของจีนไปสู่เทคโนโลยีขั้นสูงยุคหุ่นยนต์ หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 ในเดือน ธ.ค.2562 และคาดว่าจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้
รัฐบาลจีนประกาศว่า การต่อสู้กับโรคระบาดไม่สามารถทำได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิกฤตครั้งนี้จะทำให้วงการเทคโนโลยีของจีนเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลายเทคโนโลยีมีโอกาสนำมาใช้งานจริงในช่วงนี้
ขณะที่ประเทศไทย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ต่างร่วมกันคิดค้น พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี มาเป็นแรงสนับสนุนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนได้รักษาระยะห่างด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์บริการทางการเแพทย์ ให้คำปรึกษาทางไกลผ่านระบบ Telemedicline ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างแพทย์ และกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังหรือผู้ป่วย COVID-19 สื่อสารโต้ตอบผ่านระบบ VDO Conference
ช่วยให้แพทย์สามารถคัดกรอง ประเมินความเสี่ยง ตลอดจนการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้ ควบคุมสั่งการการทำงานของหุ่นยนต์ได้จากระยะไกล ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับบริษัทเอกชนพัฒนาหุ่นยนต์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วย "CISTEMS" รับส่งอาหารและยา พร้อมส่งอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพ ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อระหว่างการตรวจและติดตามอาการ ลดความเสี่ยงบุคคากรทางการแพทย์ติดเชื้อ ตลอดจนช่วยลดการใช้อุปกรณ์ทางการแพย์ อาทิ ชุด PPE หน้ากากอนามัย และถุงมือยาง
มหาวิทยาลัยมหิดล คิดค้นพัฒนาหุ่นยนต์ "เวสตี้" เก็บขยะติดเชื้อ ใช้แขนกลยกถังขยะติดเชื้อไปยังกระบะจัดเก็บ บรรทุกได้สูงสุดถึง 500 กิโลกรัม ทำงานด้วยระบบนำทางด้วยเทปแม่เหล็ก เคลื่อนที่ด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 8 เมตรต่อนาที
นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์ "ฟู้ดดี้" ส่งอาหารและยาในหอผู้ป่วย 200 คนต่อวัน ช่วยลดภาระบุคลากรในโรงพยาบาลจากการสัมผัสตรงกับผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยโรค COVID-19 โดยใช้ระบบนำทางอัจฉริยะด้วยข้อมูลแผนที่ในตัวหุ่นยนต์แบบคิวอาร์โค้ด ทำให้ง่ายต่อการขนส่งครั้งละมาก ๆ คาดว่าจะทดแทนการใช้แรงงานในโรงพยาบาลได้มากกว่าร้อยละ 30
ขณะที่ไทยกำลังคลายล็อกกิจการต่างๆ ให้กลับมาเปิด หลังสถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลาย ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้จัดทำแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” ขึ้นมาเพื่อรองรับชีวิตวิถีใหม่ สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนที่จะเข้าไปใช้บริการร้านค้า
ผู้ประกอบการลงทะเบียนรับ QR Code มาแปะไว้หน้าร้านให้ผู้ใช้บริการสแกน เช็กอินและเช็กเอาท์ หรือสแกนก่อนเข้าใช้และหลังใช้บริการ เพื่อจะได้รู้ความหนาแน่นของผู้ใช้บริการในแบบเรียลไทม์ หากมีการตรวจพบมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 และผู้ใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็จะมีข้อความจากระบบให้ไปตรวจ COVID-19 ฟรี
องค์กร บริษัท อาจได้เรียนรู้การทำงานแบบ work everywhere ทำงานจากที่ใดก็ได้ที่ยังคงได้ประสิทธิภาพเหมือนเดิม ยกตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชัน "ZOOM" กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้พนักงานและหน่วยงานต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ผ่านการสื่อสารด้วยวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ที่สามารถใช้ได้ทุกที่ ทุกเวลา เข้าประชุมพร้อมกันได้ถึง 100 คน สามารถพิมพ์ตอบโต้ข้อความ หรือส่งรูปภาพถึงกันได้ และที่สำคัญ หากใช้ประชุมไม่เกิน 40 นาที สามารถเข้าใช้งานได้ฟรี
ความพิเศษในการสื่อสารที่ไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่ยุ่งยาก สามารถเข้าประชุมได้เพียงแค่กดลิงก์และกรอกรหัส ทำให้ยอดการเติบโตในการใช้งานของแอปพลิเคชัน ZOOM เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ในช่วงเดือน มี.ค.ปี 2019 มีผู้ใช้แอปพลิเคชั่น ZOOM ประมาณ 10 ล้านครั้ง และในช่วงเดือน มี.ค.2020 มีผู้ใช้มากถึงวันละ 200 ล้านครั้ง ได้รับความนิยมทั้งพรรคการเมือง สำนักงาน บริษัท โรงเรียน และองค์กรต่างๆ ทั่วโลก ที่ต้องทำงานอยู่บ้านท่ามกลางมาตรการล็อกดาวน์ เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการใช้แอปพลิเคชัน ZOOM เกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาความไม่ปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้ ส่งผลให้บริษัทหลายแห่งในสหรัฐฯ มีคำสั่งห้ามใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากหวั่นข้อมูลรั่วไหล
ทั้งยังส่งผลให้หุ้นของบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาลดลงต่อเนื่อง ซึ่งทางบริษัทฯ ก็ได้ออกมายอมรับข้อผิดพลาด และประกาศเร่งพัฒนาระบบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งาน
แม้การสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์จะเป็นสิ่งสำคัญในช่วงเวลาที่หลายๆ คน ยังต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home) และอาจจะมีการพัฒนาไปใช้การประชุมออนไลน์อย่างกว้างแบบจนเป็นปกติในแบบวิถีใหม่
แต่สิ่งสำคัญของการสื่อสารในการทำงานนั้น ผู้ประกอบการยังต้องเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
หลังวิกฤต COVID-19 ผู้คนอาจต้องใช้ชีวิตระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ เทคโนโลยีอาจจะกลายเป็นด้านหน้าให้กับมนุษย์หลายเรื่อง ขณะที่ธุรกิจก็อาจต้องปรับตัว เช่น ฟิตเนสหลายแห่งปรับมาใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ ให้เทรนเนอร์นำสมาชิก หรือผู้ที่สนใจ ออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ ทั้งเต้น บอดี้เวท และคาร์ดิโอ เสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย แม้จะอยู่ในช่วงกักตัวที่บ้าน
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า การพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ยังคงต้องรอ หลายคนหวังว่า เมื่อมีวัคซีน และมีการใช้อย่างกว้างขวางแล้ว จะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม
ถึงแม้มาตรล็อกดาวน์ เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้จำนวนผู้ป่วยใหม่ลดลง แต่ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมเลย และไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่ได้วางกันไว้ การระบาดของโรคก็อาจเกิดระลอกใหม่ได้อีก การใส่หน้ากากอนามัย จะยังมีความจำเป็นและสำคัญมาก นั่นจะเป็นการช่วยป้องกันการแพร่เชื้อจากเราไปสู่คนอื่น
หลายคนอาจไม่คุ้นเคย หรืออาจกังวลถึงความปลอดภัยในการใช้งาน แต่เชื่อว่าผ่านช่วงการระบาดนี้ไปแล้ว คนจะเห็นถึงประโยชน์
ในอนาคตจะมีคนใช้งานมากขึ้น เช่น คนที่อาจจะ Work From Home ทุกวันตอนนี้ ก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็น Work From Home บางวัน เวลาทำงานที่มันมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
เทคโนโลยีที่เติบโตเร็ว หลายคนเป็นห่วงเรื่องกลุ่มคนจน ผู้มีรายได้น้อยจะเข้าไม่ถึงหรือตามไม่ทัน
รัฐบาลควรจะเอื้อให้เกิดการพัฒนาในส่วนนี้ พร้อมกับกำกับดูแลให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น เช่น มีการจัดไวไฟหรืออินเทอร์เน็ตพื้นฐานให้กับประชาชน เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรจะทำ และวันนี้มันอาจทำได้ง่ายกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน
ในด้านของการแพทย์เอง เทคโนโลยีพวกวีดีโอคอล มันก็มีใช้กันมาในช่วงเวลานานพอสมควรแล้ว อย่างเช่น การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางไกล มีการใช้ AI ในการดูผลเอกซเรย์ต่างๆ ต่อไปอาจจะพัฒนามากขึ้นไปเป็นการตรวจคนไข้ทางไกลมากขึ้น ซึ่งตรงนี้อาจจะช่วยให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยรวมทำให้คนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น
ถึงตรงนี้จะมองเห็นภาพว่า คำว่า "อนาคต" ของ "เทคโนโลยี" จะไม่ยาวไกลอีกต่อไป ฉะนั้นทุกเพศและทุกวันจะต้องปรับตัวเพื่อยอมรับกับมัน เพราะความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเพียง "ชั่วข้ามคืน"
Comments
Post Comments